ถึงแม้ว่าบ้านไม้ไผ่ถือเป็นบ้านที่คนส่วนใหญ่ในย่านเอเชีย นี้ ใช้เป็นที่อยู่อาศัยกันมานานแล้วก็ตามที แต่ว่าในทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่แล้ว ถือว่ามีการพัฒนาไปช้ามาก ไม่ค่อยมีการใช้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องเท่าใดนัก เนื่องจากไม้ไผ่มักจะใช้กับการก่อสร้างที่ค่อนข้างจะชั่วคราว และราคาถูก จึงเป็นภาพพจน์ที่ไม่ดีของไม้ไผ่ ว่าเป็นที่อยู่อาศัยของคนจนไป แม้ว่าคุณสมบัติของไม้ไผ่นั้น มีดีอยู่มากมาย แต่ก็มีข้อเสียที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขถ้าเราแก้จุดอ่อนของมันได้ การพัฒนาจากนี้ไปก็จะก้าวกระโดดไปไกลได้ทีเดียว
บ้านไม้ไผ่ที่เราพบเห็นมักจะมีรูปแบบที่เหมือนๆกัน ด้วยวิธีการและรูปแบบในการก่อสร้าง ซึ่งทำตามๆกันมา นี่เป็นจุดอ่อนของบ้านไม้ไผ่ ที่ไม่มีการพัฒนาในเรื่องตัววัสดุ รูปแบบ วิธีการก่อสร้าง และเทคโนโลยี่สมัยใหม่ ทำให้ความนิยมอยู่ในวงจำกัด การใช้งานก็จำกัดไปด้วย แต่ถ้าเราสามารถสร้างบ้านไม้ไผ่ด้วยวิธีใหม่ ด้วยวัสดุผสม และรูปแบบที่ได้ออกแบบให้ใช้งานได้มากขึ้น ภาพพจน์ของบ้านไม้ไผ่ก็จะเปลี่ยนไป และได้รับความนิยมจากคนมีฐานะมากขึ้น แต่ก็ยังคงคุณสมบัติที่ดีไว้คือ ราคาถูกกว่าวัสดุก่อสร้างอย่างอื่น
จุดอ่อนอย่างแรก คือคุณสมบัติที่ถึงแม้ไม้ไผ่จะแข็งกว่าไม้ เหนียว ยืดหยุ่นได้ดีทนทาน แต่มักเป็นเหยื่ออันโอชะของแมลงเจาะไช ทำให้ผุพังได้รวดเร็ว ไม่ทนทาน ซึ่งก็สามารถแก้ได้ด้วยวิธีการอบน้ำยากันแมลง ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายสูงหน่อย ถ้าทำจำนวนน้อย แต่ถ้าสามารถทำเป็นจำนวนมากได้ ก็จะลดต้นทุนลงไป
การก่อสร้างด้วยรูปแบบเดิมๆก็เป็นจุดอ่อนข้อถัดมา ที่เห็นกันอยู่คือ บ้านไม้ไผ่ของไทยเรานั้น จะมีวิธีการก่อสร้างที่เรียกว่า เรือนเครื่องผูก ข้อต่อต่างๆจะมาทาบกันแล้วผูกด้วยวัสดุที่เหนียวเช่นหวายและก็ทำให้บ้านไม้ ไผ่ไม่ทนทานจากวัสดุผูกนี่แหละ ที่พังก่อน เลยทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องรูปแบบและความคงทน เราจึงเห็นบ้านไม้ไผ่แบบเพิงหรือจั่วแบบไทยๆ ที่ไม่มีการเปลี่ยนรูปทรง มาเป็นเวลานาน ดังนั้นในวิธีการ หรือเทคโนโลยี่สมัยใหม่ ถ้าใช้การบากหรือวัสดุอื่นที่ทนทานกว่ามาใช้ร่วมในการยึด ต่อ ติด ไม้ไผ่ เข้าด้วยกันแล้ว การก่อสร้างและรูปแบบ ก็จะเปลี่ยนไปทันที ไม่ใช่เพิงหมาแหงนอย่างที่เราคุ้นตากันอีกต่อไป
เทคโนโลยี่สมัยใหม่ จะเข้ามาพัฒนาวิธีการก่อสร้างและรูปแบบ ให้บ้านไม้ไผ่ ได้รับความนิยมในอนาคตได้ เนื่องจากไม้เนื้อแข็งเริ่มหมดไป ไม้โตไม่ทันการใช้งานของพลเมืองโลกที่ขยายตัวขึ้นรวดเร็วมาก แต่ไม้ยืนต้นสักต้นกว่าจะโตจนเหมาะที่จะใช้งานนั้น ใช้เวลาหลายสิบปีทีเดียว การใช้ไม้ไผ่ก็จะเป็นการช่วยรักษาป่าด้วยในทางอ้อม เพราะไม้ไผ่เป็นพืชโตเร็วไม่ถึงปีก็ตัดมาใช้ได้แล้วและป่าไผ่ก็สามารถฟื้น ตัวได้เร็วอีกด้วย ใน 1 ปี ป่าไผ่จะฟื้นตัวได้ถึง 30 % ทีเดียว เทียบกับป่าไม้เนื้อแข็งที่จะสามารถฟื้นตัวได้ เพียงแค่ 3-5 % ต่อปีเท่านั้น นี่จึงเป็นการทดแทนที่น่าจะเป็นการรักษาสมดุลของธรรมชาติไปในตัว
ข้อเสียอีกอย่างของไม้ไผ่คือความไม่มาตรฐาน ความใหญ่ของลำ ความตรงของลำต้น ความยาวของลำต้นและความเรียวเล็กลงจากโคนไปสู่ปลาย เหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อวิธีการก่อสร้างสมัยใหม่ เพราะถือว่าไม่ได้มาตรฐาน แต่ถ้าเราใส่แนวความคิดของบ้านธรรมชาติเข้าไป ความไม่มาตรฐานอาจทำให้การก่อสร้างยากขึ้นอีกนิด แต่ความสวยงามก็จะลบข้อด้อยอันนี้ออกไปได้ และการสร้างบ้านไม้ไผ่ก็จะกลายเป็นงานทางศิลปะไปในตัว
การใช้วัสดุผสมก็เป็นการแก้จุดอ่อนของบ้านไม้ไผ่ได้ การสร้างบ้านไม้ไผ่ไม่ได้มีข้อห้ามว่าจะต้องใช้ไม้ไผ่เพียงอย่างเดียว แต่ในส่วนโครงสร้างของบ้าน ส่วนไหนที่ไม่เหมาะใช้ไม้ไผ่ เราก็ใช้วัสดุอื่นแทนได้ เช่นฐานราก เราก็ใช้คอนกรีตเสริมเหล็กได้ เสาคานถ้าเราสร้างบ้านสองชั้นเสาไม้ไผ่อาจไม่แข็งแรงพอ การใช้หลายต้นรวมกันก็อาจจะยุ่งยาก เราก็ใช้เสาปูน หรือไม้เนื้อแข็งเข้าร่วมด้วยก็ได้ ไม่ผิดตรงไหน จุดต่อเชื่อมหรือจุดรับน้ำหนักก็ใช้โลหะเข้าร่วมด้วย ได้เช่นเดียวกัน ดูจากรูปต่างๆที่นำมาให้ชมเอาก็แล้วกัน ว่าต่างจากที่คุณเคยเห็น เคยรู้จักมาแล้วเพียงใด และความน่าอยู่จะน้อยกว่าบ้านธรรมชาติแบบอื่นๆหรือไม่ ?